26 พฤศจิกายน 2516 เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ครั้งแรก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนิน พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2516 ณ หอสมุด วิทยาลัยวิทยาการศึกษา มหาสารคาม

ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 ณ หอสมุด วิทยาลัยวิทยาการศึกษา มหาสารคาม

ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2519 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนิน มายังจังหวัดมหาสารคาม โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากจังหวัดขอนแก่น พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ณ หอสมุด วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ซึ่งก่อนหน้านั้น บัณฑิต รุ่นที่ 1-4 ในปีการศึกษา 2511-2514 ต้องเดินทางไปรับพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร กรุงเทพฯ ทั้งนี้ มิสิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา และพสกนิกรจังหวัดมหาสารคาม และพื้นที่ใกล้เคียงมีโอกาสเฝ้าฯรับเสด็จ เพื่อชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านในจังหวัดมหาสารคามด้วย

เนื่องในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ได้จัดขบวนฟ้อนโปงลางของนิสิต จำนวน 200 คน แสดงถวายหน้าพระที่นั่ง
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสกับรองอธิการว่า “…มหาวิทยาลัยทำเช่นนี้เป็นการดี เป็นการชอบแล้ว คือ เอาศิลปะพื้นบ้านมาพัฒนาให้ก้าวหน้า ไม่ใช่ว่าปล่อยให้คนอื่นไปทำแล้วเราไปลอกเลียนคนอื่นมาอีกทีหนึ่ง …”

ก่อนวันงานพระราชปริญญาบัตรจะมาถึง วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ได้มีการตระเตรียมงานอย่างกระตือรือร้น โดยทั้งคณาจารย์และนิสิตต่างได้ร่วมกันพัฒนาสถานที่เพื่อรับเสด็จอย่างพร้อมเพรียง เช่น ช่วยกันปลูกหญ้าและพันธุ์ไม้ เก็บกวาดและประดับตกแต่งภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบวิทยาลัย

อาจารย์ผาณิตา เชี่ยวชาญ นิสิตปีการศึกษา 2516 ได้ร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้เล่าว่า
“ก่อนวันเสด็จมา เสาร์อาทิตย์เราไม่ได้หยุดเลย นอกจากปลูกหญ้าปลูกต้นไม้แล้ว ผู้ชายบางส่วนก็ไปตัดไม่ไผ่เพื่อที่จะมาทำที่พักให้กับชาวบ้านที่จะมาเข้าเฝ้ารับเสด็จ พอตอนเช้าวันที่เสด็จ เราก็ตื่นกันแต่เช้ามาฉีดน้ำให้พื้นเปียกป้องกันฝุ่น ซึ่งการรับเสด็จจะมีทั้งสองฝั่งคือฝั่งเก่าด้านอาคารหนึ่งกับฝั่งใหม่ โดย เฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจะลงบริเวณสถานีตรวจอากาศของสาขาภูมิศาสตร์ ฝั่งหอประชุม (ฝั่งเก่า) พอท่านเสด็จลงท่านก็เสด็จพระราชดำเนินข้ามพากมายังฝั่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนที่มารอได้เข้าเฝ้าชมพระบารมี ท่านทรงเดินเร็วมากและจะหยุดตรัสถามไถ่ประชาชนตลอดทาง”  และในฐานะที่เป็นนิสิตที่ได้มีโอกาสรอรับเสด็จในปี 2516 ได้เล่าประสบการณ์ครั้งนั้นว่า
“เหตุการณ์ครั้งนี้ที่พระองค์ท่านเสด็จขณะที่เดินผ่านพวกเราก็มีความรู้สึกดีใจที่ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ประชาชนนี่เข้าเฝ้าใกล้ชิดที่สุดเลย เสด็จพระราชดำเนินอยู่นานมากทุกๆ เต็นท์ประรำพิธี พระองค์ท่านทรงเดินลงไปจนหมด เพราะได้ยินเสียงพระองค์ท่านตรัสว่าเขามารอเราตั้งแต่เช้ามืด พระองค์ท่านก็บอกว่าไม่ได้ๆ เขามารอเรา ท่านก็บอกว่าจะต้องเดินไปหาเขา เป็นภาพที่ประทับใจพวกเราเป็นอย่างมาก”

อาจารย์ ดร.ชชุรัตน์ อุ่นพิกุล ศิษย์เก่าวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม รุ่นปีการศึกษา 2514 อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้กล่าวถึงบรรยากาศว่า
“ก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาสารคาม ต้องไปรับปริญญาบัตรกันที่ประสานมิตร กรุงเทพฯ จะมีสองช่วงคือช่วงซ้อม กับ ช่วงรับจริง การเดินทางก็ไม่สะดวก เราต้องนั่งรถทัวร์ไปกรุงเทพฯ สมัยนั้นรถทัวร์สายมหาสารคาม กรุงเทพฯ ยังไม่มีต้องไปรอรถผ่านที่บริเวณหอนาฬิกา นั่งรถแดง รถหวานเย็นไปต่อที่บ้านไผ่แล้วต้องนั่งรถไฟไปกรุงเทพฯ หรือจะไปรถประจำทางก็ต่อที่นั่น ดังนั้น การไปกรุงเทพฯ เวลานั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่และน่าตื่นเต้นมากสำหรับพวกภูธรอย่างเรา ต้องไปเนิ่นๆ เพื่อหาที่พัก เวลาถ่ายรูปชุดครุยก็ต้องไปถ่ายที่กรงเทพฯ แถววังบูรพา บ้านเรายังไม่มี”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พชรนนท์ สายันต์เกณะ ศิษย์เก่า วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม รุ่นปีการศึกษา 2515 อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีส่วนร่วมกับประสบการณ์รับเสด็จครั้งนั้นในฐานะนักร้องเพลงประสานเสียง เล่าว่า
“พิธีพระราชปริญญาตอนนั้นยิ่งใหญ่มาก เฮลิคอปเตอร์ฯ ท่านลงจอดหน้าหอสมุดเก่า บัณฑิตเวลานั้นก็ไม่เยอะสามารถอยู่ในหอสมุดได้หมด ก่อนวันงานเราเป็นรุ่นน้องก็ไปซ้อมเพลงสรรเสริญพระบารมีกัน เวลานั้นเรายังไม่มีวงดุริยางค์ เราก็ไปขอความร่วมมือกับวิทยาลัยครูมหาสารคาม ซึ่งตอนนั้นสอนถึงระดับอนุปริญญา หรือ ปก.ศ.สูง เราก็เป็นนักร้องเสียงเบส มีอาจารย์ ดร.เฉลิมพล งามสุทธิ ช่วยสอนให้มีนักร้องประมาณ สามสิบคนก็ยืนเข้าแถวอยู่ด้านข้างทางเดินจะเข้าหอสมุด ท่านเสด็จผ่านแต่ไม่กล้ามองท่านกลัวตื่นเต้นแล้วจะร้องผิด ประชาชนเวลานั้นมืดฟ้ามัวดิน มากันเยอะมากๆ พวกเพื่อนนิสิตผู้หญิงได้รำโปงลางถวาย จำได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีฯ ท่านมีความสนพระทัยในวงโปงลาง เพราะเห็นว่าหลังจากพระราชทานปริญญาเสร็จ พระองค์ทรงอยากดูต่อ แต่ช่วงนั้นใกล้ค่ำแล้วท่านจึงต้องเสด็จกลับ”

ผลสืบเนื่องจากการที่พระมหากษัตริย์ได้เสด็จมายังจังหวัดเล็กๆอย่างมหาสารคามเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามเป็นครั้งแรกนั้น ได้ช่วยยืนยันถึงฐานะของ “ครูปริญญา” และความสำคัญของวิทยาลัยฯให้ประจักษ์แก่ชุมชนและสังคมเป็นอย่างมาก เพราะเวลานั้นในภาคอีสานมีเพียงสองสถาบันเท่านั้นคือมหาวิทยาลัยขอนแก่นและวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินมา พระราชปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตถึงสถาบันการศึกษา

 

Comments are closed.
Contact Info
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์ กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม